ขึ้นบัญชี “บุคคลอันตราย – สุดโหด” 3 ผู้ต้องหาอำมหิต “ไอ้แหบ – สมคิด-ไอซ์หีบเหล็ก”

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(12 ก.พ.64) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายอนุวัฒน์ ผลจะโป๊ะ หรือแหบ ก่อเหตุข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์นี้ และทราบว่านายอนุวัฒน์ มีประวัติเคยต้องโทษในคดีอนาจารเด็กผู้ชาย ถูกจำคุก และเพิ่งพ้นโทษเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2563 ก่อนมาก่อเหตุ

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาตนจึงได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน หรือ JSOC ขึ้นมาเพื่อเฝ้าระวัง เนื่องจากผู้พ้นโทษหลายคนมีโอกาสทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มปล้นฆ่า ข่มขืน เพราะที่ผ่านมามีผู้ก่อเหตุหรือก่ออาชญากรรมซ้ำจำนวนมากที่อยู่นอกสายตาการตรวจสอบของคนในกระบวนการยุติธรรม บางครั้งเป็นกรณีอุกฉกรรจ์ อย่างฆาตกรต่อเนื่อง ทั้งที่เชื่อมโยงพฤติกรรมได้ และเชื่อมโยงพฤติกรรมไม่ได้

โดยแยกอดีตผู้ต้องขังที่พ้นโทษเป็น 2 กลุ่ม คือ วอชลิสต์ 1 กลุ่มผู้ต้องขังในคดีสะเทือนขวัญมี 7 ฐานความผิดคือ 1.ฆ่าข่มขืน 2.ฆ่าข่มขืนเด็ก 3.ฆาตกรต่อเนื่อง 4.ฆาตกรโรคจิต 5.สังหารหมู่ 6.ชิงทรัพย์โดยการปล้นฆ่า และ 7.นักค้ายาเสพติดรายสำคัญ ที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะพ้นโทษตามกฎหมาย

และวอชลิสต์ 2 เป็นผู้ที่พ้นโทษแต่เป็นคดีที่น่าสนใจและอาจเป็นภัยต่อสังคม จึงต้องเฝ้าระวังพิเศษ โดยมีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยงานอีกทาง

“ล่าสุด ทางศูนย์ JSOC ได้เพิ่มกลุ่มวอชลิสต์ 3 ขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม เพื่อติดตามผู้กระทำผิดที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง เป็นผู้กระทำผิดร้ายแรงทางสังคม อยู่ในกระบวนการของชั้นศาล ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์และผลการดำนินการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมขึ้นทะเบียนเป็นวอชลิสต์ 1 เช่น นายสมคิด พุ่มพวง ฆาตรกรต่อเนื่อง , นายอภิชัย องค์วิศิษฐ์ หรือ ไอซ์หีบเหล็ก เป็นต้น ซึ่งกรณีของนายอนุวัฒน์ จะถูกขึ้นบัญชีไว้ในกลุ่มนี้ด้วย ” นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ตนได้พูดคุยกับทางจิตแพทย์ ทราบว่า พวกที่ก่อคดีข่มขืนเด็กนั้นเป็นผู้มีปัญหาทางจิต เป็นเรื่องที่แก้ไขและรักษาได้ยาก ในส่วนของประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะใช้วิธีการควบคุมและติดตาม โดยการติดกำไล EM ตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้ไปทำร้ายใครได้อีก ในส่วนของประเทศไทยนั้น ในอนาคตเราอาจจะต้องมีการแก้หรือเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้งานของศูนย์ JSOC เพื่อให้สามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนมากขึ้น รวมถึงต้องสร้างการรับรู้ให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผมและกระทรวงยุติธรรม พยายามติดตามและเฝ้าระวังบุคคลอันตรายกลุ่มนี้ โดยการตั้งศูนย์ JSOC ขึ้นมา และเร่งทำงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากที่สุด นี่คืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่เราต้องเร่งงานของศูนย์ JSOC เพราะหากสังคมไม่มีการเฝ้าระวัง ไม่รับรู้ว่ามีผู้ต้องขังที่พ้นโทษในคดีเหล่านี้ สังคมก็จะไม่เกิดความตื่นตัว และไม่มีการระวัง จนเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก แต่หากมีการเฝ้าระวังของศูนย์ JSOC และการตื่นตัวของประชาชนในการรับรู้ว่ามีคนลักษณะนี้เข้ามาอยู่ในชุมชน นอกจากเจ้าหน้าที่จะช่วยจับตาดูแล้ว ประชาชนในสังคมจะช่วยเป็นหูเป็นตาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้สังคมเกิดความปลอดภัยได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผมจะพยายามเร่งการทำงานของศูนย์ JSOC ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น ไม่เกิดเหตุในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมาอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีศูนย์ JSOC แล้วทำไมถึงยังมีเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการของศูนย์ JSOC อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพิ่งมีการตั้งเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ทุกอย่างยังไม่เข้าที่ ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากร รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งในอนาคตเราต้องมีการเสนอกฎหมายขึ้นมา เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและทำงานได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าใจด้วย ซึ่งทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเร็วๆ นี้จะต้องมีการจัดอบรมและสัมมนา ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และสิทธิต่างๆ ให้หน่วยงานและประชาชนทราบและเข้าใจอย่างละเอียดด้วย

แหล่งข่าว https://www.naewna.com/local/552318