โผล่ 5 ราย! “อบต.สรรคบุรี” รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน – หลักเกณฑ์การจ่ายเงิน

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านเช่าเลขที่ 108/2 ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หลังจากทราบว่า นางมะลิ เณรแขก อายุ 56 ปี อาชีพรับจ้าง กำลังทุกข์ใจที่ต้องรับสภาพเป็นผู้ชำระหนี้แทน นางชู เณรแขก มารดา อายุ 96 ปี ที่เสียชีวิตไปแล้ว จากการที่มารดาถูกสำนักงานเทศบาลตำบลสรรคบุรี เรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 102,800 บาท เนื่องจากขาดคุณสมบัติ รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษจากหน่วยราชการอื่น

นางมะลิ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ตนอาศัยอยู่กับแม่ที่ป่วยติดเตียง โดยเมื่อปี 2526 แม่ได้รับเงินบำนาญพิเศษของพี่ชายที่เสียชีวิตเครื่องบินตก จากการปฏิบัติหน้าที่ทหารอากาศ เดือนละ 9,000 บาท และยังได้รับเบี้ยผู้สูงอายุจากเทศบาลตำบลสรรคบุรี เดือน 1,000 บาท แต่เมื่อวันที่ 26 พ.ย.62 เทศบาลตำบลสรรคบุรี ได้มีหนังสือมาขอเรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่แม่ได้มาตั้งแต่เดือน ต.ค.62 รวมเป็นเงินจำนวน 102,800 บาท

ซึ่งขณะนั้นแม่นอนป่วยติดเตียงด้วยโรคชราภาพ ตนเห็นว่าแม่ยังได้รับเงินบำนาญพิเศษของพี่ชาย เดือนละ 9,000 บาทอยู่ พอที่จะมีเงินชดใช้เบี้ยยังชีพสูงอายุให้แก่ทางเทศบาลตำบลสรรคบุรีได้ ตนจึงไปเซ็นหนังสือรับสภาพหนี้แทนแม่ ยินยอมผ่อนชำระเบี้ยผู้สูงอายุคืน เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 102 เดือน แต่ผ่อนชำระมาได้แค่ 4 เดือน ก็ไม่มีเงินผ่อนต่อ

เนื่องจากเดือน มี.ค.63 แม่ได้เสียชีวิตลง ทำให้ไม่ได้รับเงินบำนาญพิเศษที่แม่เคยได้รับ ประกอบกับรายได้ของตนไม่แน่นอน และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้านอาหารที่ตนเคยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ปิดกิจการลง ตนจึงไม่มีงานทำ ต้องกลับมาอยู่ชัยนาท และเพิ่งพ้นการกักตัว 14 วัน ทำให้ไม่มีรายได้ และยังไม่รู้ว่าจะไปหางานหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ทำให้เกิดความเครียดเป็นอย่างมาก จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้กฎหมาย หรือระเบียบราชการสำหรับคนที่เสียชีวิตไปแล้วใหม่ ให้ตัดเป็นหนี้สูญได้หรือไม่ ไม่ต้องมาเรียกเก็บกับลูกหลานเช่นนี้

“ตนไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของใคร ไม่อยากไปรื้อฟื้น แต่อยากให้ออกกฎหมายใหม่ ใช้กับคนที่ลงทะเบียนใหม่ ไม่ต้องย้อนหลังไป 10 ปี ให้ประชาชนลำบาก เพราะตอนนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแก้กฎหมายหรือแก้ระเบียบราชการ วงเล็บไว้ได้หรือไม่ ว่าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วให้ยกเป็นหนี้สูญ ไม่ต้องให้ลูกหลานต้องมารับผิดชอบหนี้สินต่อ ถึงแม้แค่เดือนละ 1,000 บาท แต่สำหรับประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ เงิน 1,000 บาท ไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ” นางมะลิ กล่าว

ด้าน นางจริยาพร ผลจุลพันธุ์ นักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลสรรคบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลางให้ระงับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับนางชู เณรแขก เนื่องจากมีการรับเงินบำนาญพิเศษจากหน่วยงานของรัฐอื่น ต่อมา นางมะลิ เณรแขก ลูกสาว ได้มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ ยินยอมผ่อนชำระเงินคืนเดือนละ 1,000 บาท แต่ผ่อนชำระมาได้ 4 เดือน หลังจากนั้นก็หยุดชำระไป จึงได้มีการติดตามสอบถาม ทราบว่านางมะลิ มีปัญหาเรื่องงาน

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีรายได้ ซึ่งทางเทศบาลก็ไม่ได้เร่งรัดให้มาชำระหนี้ และยังจะช่วยหางานให้ทำ แต่นางมะลิ บอกว่าหลังพ้นโควิด-19 จะกลับไปทำงานร้านอาหารกับเพื่อนที่กรุงเทพฯ แล้วจะนำเงินมาผ่อนชำระให้ อย่างไรก็ตาม การเรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบราชการ และได้มีการทำหนังสือยินยอมรับสภาพนี้ไว้แล้ว จึงไม่สามารถยกหนี้ให้แก้นางมะลิได้

นางจริยาพร ยังเปิดเผยอีกว่า นอกจากนางมะลิ ที่ต้องรับสภาพหนี้แทนนางชู ในการผ่อนชำระเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนให้แก่เทศบาลตำบลสรรคบุรี เดือนละ 1,000 บาทแล้ว ยังมีผู้สูงอายุในพื้นที่อีก 4 ราย ที่ถูกเรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมเป็นเงิน 245,600 บาท ซึ่งผู้สูงอายุทั้ง 4 ราย กำลังผ่อนชำระหนี้ เดือนละ 600-1,000 บาท คืนให้แก่เทศบาลเช่นเดียวกัน

สำหรับเหตุการณ์เรียกเงินคืนที่กลายเป็นข่าวดังก่อนหน้านี้ คือ กรณีนางบวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี ชาวบ้านใน ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ถูกเจ้าหน้าที่สวัสดิการของ อบต.เจริญสุข อ.ละหานทราย เข้าเจรจาขอคืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุที่จ่ายให้กับนางบวน เป็นเวลา 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินกว่า 84,000 บาท หลังจากกรมบัญชีกลางมีหนังสือยืนยันถึง อบต.เจริญสุขว่า นางบวน ได้รับเงินสวัสดิการซ้ำซ้อน จนสังคมต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง โดยสืบเนื่องจากทาง อบต.เจริญสุขได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางหาข้อมูลพื้นฐาน เพราะในอดีตเทคโนโลยีเดิมยังทำไม่ได้

โดยจากข้อมูลพบว่า นางบวน ได้รับเงินสวัสดิการซ้ำซ้อน เนื่องจากได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ เป็นเงินบำนาญพิเศษกรณีที่เป็นทายาทของ จ.ส.อ.จักราวุทธ โล่ห์สุวรรณ ลูกชาย ซึ่งเป็นทหารสังกัด มทบ.21 นครราชสีมา เนื่องจากลูกชายเสียชีวิตจากเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่โคราช เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2544 ทางต้นสังกัดจึงได้พิจารณา จ่ายเงินบำนาญพิเศษ ให้กับพ่อ แม่ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน แต่หลังจากสามีเสียชีวิตก็เหลือยายคนเดียวที่ได้รับเงินบำนาญทายาทเดือนละ 5,000 บาท และล่าสุดเมื่อปี 2562 รัฐบาลได้ปรับให้ยายได้รับเงินเดือนละ 10,000 บาท บวกกับเบี้ยคนพิการอีก 800 ยายบวนจะได้รับเงินเดือนละ 10,800 บาท มาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งข่าว
https://mgronline.com/local/detail/9640000007632
https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2019515