ข่าวดี! 14 ก.พ. “ไทย” ฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 50,000 โดส “บุคลากรทางการแพทย์”

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(25 ม.ค.64) หลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ได้ประชุมทางไกลกับผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อชี้แจงการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ นายอนุทิน กล่าวสั้นๆ หลังการประชุมฯว่า ขณะนี้ระบบสุขภาพ ทั้งสถานพยาบาล บุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ นั้นมีการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่จะเข้ามาล็อตแรกต้นเดือนก.พ.จำนวน 50,000 โดส

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระยะแรก จะให้กับกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่เสี่ยง เช่น บุคลากรการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร กทม. แม่สอด จ.ตาก และจังหวัดในภาคใต้ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อ และเศรษฐกิจไปต่อได้ และเพื่อให้ประชาชนมั่นใจด้วยว่า หมอก็กล้าฉีด แต่ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยจัดทำ Line Official Account ในชื่อว่า ‘หมอพร้อม’ ในวันที่ 12 ก.พ.เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ลงนามความยินยอม ซึ่งปลัดสธ.ได้เสนอให้ฉีดในวันที่ 14 ก.พ. โดยจะมีติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน ตั้งแต่อยู่ที่รพ.ระยะเวลา 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน จากนั้นจะติดตามต่อในวันที่ 1 วันที่ 7 และวันที่ 28 หลังรับวัคซีน

ส่วนในจำนวน 50,000 โดสแรกนี้จะให้เป็นเข็มแรกทั้งหมดเลยหรือจะเก็บจำนวนหนึ่งไว้เป็นเข็ม 2 ด้วยหรือไม่ ให้กรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง เพราะล็อตถัดไปที่จะเข้ามานั้นเบื้องต้นที่แจ้งมาคือเดือนมี.ค., เม.ย. อีก 1 แสน วัคซีนมาเมื่อไหร่ก็ต้องนำมาปรับกัน อย่างไรก็ตามทางกรรมการจะประชุมสรุปอีกครั้ง

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่เริ่มมีการฉีดให้ประชากรในต่างประเทศผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง เป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคในประเทศ

สำหรับเป้าหมายการฉีดระยะแรกจะให้ กลุ่มที่ 1 บุคลากรด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีประมาณ 6-7 พันคน กลุ่มที่ 2 คือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับงานควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มนี้มีอยู่ราวๆ หลักพันคน และกลุ่มที่ 3 ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง หรือเสี่ยงชีวิต คือผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ และโรคไต ซึ่งมีอยู่หลักแสนคน ทั้งหมดนี้คือตัวเลขที่มี แต่การฉีดสุดท้ายจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ

ส่วนเรื่องเข็มฉีด และอุปกรณ์ที่ต้องใช้นั้น นพ.โสภณ ยืนยันว่า มีเพียงพอเพราะมีการผลิตได้ ในประเทศ โดยสัปดาห์หน้าจะทยอยส่งเข็มฉีดไปยังรพ.ต่างๆ จำนวน 2.5 ล้านชุด โดยผู้ที่จะเข้ารับวัคซีนควรดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพราะปกติจะไม่ฉีดวัคซีนให้กับคนมีไข้

แหล่งข่าว https://mgronline.com/qol/detail/9640000007644